The old world in the new way : in our perspective

J design blog | office interior design workplace after COVID 19

สิ่งใหม่บนโลกใบเดิม ในมุมมองของพวกเรา J design

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2020 ได้เร่งปฏิกริยาในการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบ ความคิด และพฤติกรรมของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในหลายด้าน

 

รูปแบบของการทำงานที่เคยคิดว่าจะใช้เวลามากกว่า 5 ปีถึงจะเกิดขึ้นได้ แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าที่คาดไว้มาก

 

รูปแบบการทำงานที่ ทำงานที่ไหนก็ได้ 

รูปแบบการทำงานที่ ผลลัพธ์สำคัญกว่ากระบวนการ 

รูปแบบการทำงานที่ สื่อสารทางไกลเป็นส่วนมาก 

รูปแบบการทำงานที่ ขับเคลื่อนจากทุกคนในองค์กร ไม่ใช่เฉพาะเจ้าของหรือหัวหน้า 

รูปแบบการทำงานที่ กระบวนการเรียนรู้จากความผิดพลาดมีความสำคัญมากกว่ารักษาความสำเร็จ 

รูปแบบการทำงานที่ จิตวิญญาณของผู้ประกอบการของทุกคนคือสิ่งสำคัญ  

 

แท้ที่จริงแล้ว เทคโนโลยีและแนวความคิดในการทำงานที่เรามีในช่วงที่ผ่านมานั้น เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานมานานแล้ว  

 

แต่สิ่งที่หยุดพวกเราเอาไว้คือความกลัว เรากลัวการเปลี่ยนแปลง เรารอสูตรสำเร็จ ซึ่งทำให้เราไม่ต้องออกไปลองผิดลองถูก อันจะนำไปสู่ความล้มเหลว   

 

แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผลักเราออกจากร่มเงาของความกลัวและความเคยชินสู่ความร้อนระอุของการเปลี่ยนแปลง 

 

ทำให้เราจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดต่อไป  ในสถานการณ์แบบนี้ที่คำพูดเชยๆว่า “ผู้ที่จะอยู่รอด คือผู้ที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วที่สุด” ก็ได้ถูกพิสูจน์ถึงพลังและสัจจะของมันอีกครั้ง  

 

ที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงนั้นรอคอยอย่างอดทนด้วยความเงียบภายใต้ความสงบนิ่ง แต่เมื่อเวลาของมันมาถึง มันจะปรากฏตัวขึ้นเพื่อยึดครองพื้นที่ของมัน และเวลานั้นเอง ผู้ที่อยู่กับที่จะถูกกลืนกิน ส่วนผู้ที่ปรับตัวได้ทันก็จะโต้คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทัน  

 

พวกเราทุกคนที่ J design ต่างก็พยายามปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากวิกฤติครั้งนี้  

นอกจากนี้แล้ว พวกเราก็ยังช่วยกันจินตนาการและใช้ความคิดสร้างสรรค์ทั้งหมดที่มี เพื่อนึกถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการทำงานที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันไกลข้างหน้า  และในช่วงที่ระดมความคิดกันนั้นเอง ก็มีมุมมองความคิดเรื่อง Workplace enviroment service ที่พวกเราคิดว่าน่าสนใจ และอยากจะนำมาถ่ายทอดผ่านบทความนี้  

 

จุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดเรื่อง Gig economy ที่มีการพูดถึงมาก่อนหน้านี้ มันคือการเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนการจ้างงานระหว่างพนักงานประจำ และ พนักงานไม่ประจำ (Freelance, Outsource, part-time, Contract staff) ที่จะมีการจ้างงานแบบไม่ประจำมากขึ้นเรื่อยๆ  

 

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้หลายองค์กรตระหนักถึงความคล่องตัวและความรวดเร็วในการบริหารจัดการจำนวนทรัพยากรบุคคลของบริษัท เพื่อให้สอดคล้องและทันท่วงทีต่อเหตุแปรเปลี่ยนต่างๆที่จะเกิดขึ้น อันจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของขีดความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง  

 

การจ้างงานแบบไม่ประจำ ทำให้บริษัทมีความคล่องตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังได้ประโยชน์จากความหลากหลายของผู้ถูกจ้าง ที่ทุกคนต่างก็รักและพัฒนาสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ตลอดเวลา  

 

เพราะการทำสิ่งที่ชอบและถนัด เป็นกุญแจดอกสำคัญ และอาจจะถึงขั้นเป็นดอกเดียวที่จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นพัฒนาตนเองไปสู่จุดที่คุณภาพของงานอยู่ในระดับที่ตลาดยอมรับ  

 

ในขณะเดียวกันแรงงานแบบไม่ประจำก็มีอิสระที่จะเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและทำได้ดี มีความสุขและเปี่ยมด้วยความหมายแห่งการดำรงอยู่  

 

และในอนาคต หากทุกส่วนเห็นว่า Gig Economy มีประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย เมื่อนั้นก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงที่สุด คือการจ้างงานแบบประจำจะหายไป และเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายทักษะแรงงาน  

 

เมื่อวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้พิสูจน์แล้วว่า ยามที่มีวิกฤติการณ์ ความมั่นคงของงานไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด บริษัทก็อาจไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ยามวิกฤติมาถึง ยิ่งหากรัฐบาลในช่วงเวลานั้นไม่สามารถดูแลประชาชนที่เดือดร้อนได้อย่างพึงควร ก็มีเพียงทักษะและความสามารถของตนเองที่พึ่งพาได้อย่างแท้จริง จิตวิญญาณของผู้ประกอบการจึงเจริญเติบโตขึ้น  

 

และเมื่อนั้นเองที่แนวคิดเรื่อง One man business economy ก็จะเป็นจริง มันคือรูปแบบเศรษฐกิจที่ทุกบริษัทมีคนทำงานเพียงแค่คนเดียว ไม่มีพนักงาน แต่เป็นการร่วมมือกันของเหล่าเครือข่ายทักษะแรงงานต่างๆ ที่ประกอบขึ้นจากเจ้าของธุรกิจหน่วยย่อยหลายๆส่วนรวมกัน  

 

ในวันนั้นเหล่ายักษ์ใหญ่ของระบบเศรษฐกิจจะไม่สามารถเติบโตในที่ที่เขาเคยอยู่ได้อีก จำเป็นต้องหนีจากการเติบโตทางกายภาพและการขยายขีดความสามารถในการผลิตแบบเดิม และหันทิศทางไปให้ความสำคัญกับการสร้าง Platform หรือพื้นที่ทางดิจิทัล อันจะเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจกับจุดย่อยทุกจุด เติบโตเชื่อมโยงด้วยการขยายตัวที่ทบเท่าทวีคูณ ความเชื่อมโยงของเครือข่ายบุคคลจะกลายเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ที่มูลค่าสูงที่สุดในเวลานั้น  

 

และในวันนั้นเอง ที่ตึกสูงอันเคยเป็นพื้นที่เช่าสำนักงานบริเวณที่มีความหนาแน่นทางธุรกิจ (BDC) ทั่วโลก จะถูกเปลี่ยนแปลงไปเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่นที่เหมาะสมมากกว่า เพราะว่าสำนักงานจะไม่จำเป็นอีกต่อไปในระบบ ในวันที่ทุกคนต้องการเพียง workplace enviroment  

 

และ Workplace enviroment ก็สามารถเป็นได้ทุกๆที่  

 

 ในวันหนึ่งที่ การยืนยันตัวตนสามารถทำผ่านระบบ Digital Network ผ่านการเข้ารหัส DNA สามารถยืนยันตัวตนได้อย่างปลอดภัย  

ในวันหนึ่งที่ ทุกๆตารางเมตรของโลกสามารถเชื่อมต่อเข้าถึงเครือข่าย Internet ความเร็วสูง เสถียร และฟรี  

ในวันหนึ่งที่ สิ่งที่เหมือน Smart phone และแว่นตา VR มีสมรรถนะในการทำงานยิ่งกว่า Super computer ในปัจจุบัน  

ในวันหนึ่งที่ การชาร์จไฟให้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆทำผ่าน Wireless Charge เพียงแค่อยู่ในพื้นที่ อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกอย่างก็ชาร์จประจุโดยอัตโนมัติ  

ในวันหนึ่งที่ ประชากรทุกคนมีเซ็นเซอร์วัดค่าความผิดปกติต่างๆในร่างกาย เราสามารถรู้ได้ทันทีว่าใครที่อยู่ใกล้เรา เป็นคนที่มีอุณหภูมิร่างกายสูง หรือใครมีค่าระดับแอลกอฮอลในเลือด ฯลฯ  

ในวันหนึ่งที่ กระดาษไม่ได้ถูกผลิตเพื่อใช้ในการทำงานอีกต่อไป (100% Paperless work process)  

ในวันหนึ่งที่ ทุกคนไม่มีบริษัทในสังกัด ไม่มีผู้บังคับบัญชา ไม่มีใครให้ต้องสั่งการควบคุม   

ในวันหนึ่งที่ ทุกคนสามารถสื่อสารระยะไกล ด้วยอุปกรณ์ที่ถูกติดตั้งกับร่างกาย  

ในวันหนึ่งที่ สิ่งต่างๆเปลี่ยนไปจากปัจจุบันอย่างไม่สามารถคาดเดาได้…  

 

นี่คือจินตนาการที่พวกเราพยายามพามันไปให้ได้ไกลที่สุดตามขีดความสามารถในความคิดสร้างสรรค์ของพวกเรา  

 

การพูดคุยกันเรื่องความเปลี่ยนแปลงสนุกเพราะมีความเป็นไปได้มากมายที่สามารถเกิดขึ้น ทั้งที่เกิดจากปัจจัยที่คาดเดาได้และปัจจัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลย แต่สิ่งที่ตื่นเต้นมากกว่าคือทุกๆความเปลี่ยนแปลงในจินตนาการนั้นมีโอกาสที่จะกลายเป็นเรื่องจริงได้หมดทุกอย่าง  

 

ในอนาคต เมื่อมนุษย์ถูกมองว่าอาจเป็นพาหะของโรคระบาดร้ายแรง การเดินทางระหว่างประเทศจะถูกจำกัดพื้นที่โดยการที่ทุกประเทศสร้าง”เมืองเฝ้าระวัง”ขึ้นมา ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แม้ว่าจะเป็นประชากรในประเทศนั้นเอง หรือนักท่องเที่ยว หากอยู่ในเมืองเฝ้าระวังไม่ถึง 1 เดือนก็จะไม่มีสิทธิเข้าถึงพื้นที่ส่วนที่เหลือของประเทศ  

 

ในอนาคต ทันทีที่กระทรวงศึกษาฯวางแผนและคิดหลักสูตรเสร็จ ภายในหนึ่งเดือนหลักสูตรนั้นก็อาจจะล้าหลังและไม่ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก หลักสูตรนั้นหมดอายุก่อนที่คนจะได้เรียน คนที่ได้เรียนก็เรียนกับความรู้ที่หมดอายุและไม่สามารถใช้งานได้จริงในโลกที่เขาจะต้องออกไปเผชิญ   

 

ในอนาคต อาหารจะไม่ใช่สินค้า เพราะทุกคนต้องการความมั่นใจถึงที่มาของวัตถุดิบต่างๆที่จะนำมาทำอาหารเพื่อบริโภค จะมีพื้นที่เล็กที่ชุมชนกลุ่มเล็กๆร่วมกันเป็นเจ้าของดูแล แหล่งของวัตถุดิบการทำอาหาร ร้านอาหารก็จะเปลี่ยนหน้าที่จากขายอาหาร เป็นขายฝีมือการทำอาหาร โดยที่ลูกค้าจัดเตรียมวัตถุดิบมาเอง  

 

และหลังจากที่พวกเราเริ่มจะกลัวการเปลี่ยนแปลงมากมายที่ไม่สามารถคาดเดาได้จริงๆ พวกเราก็ชวนทุกคนสรุปและมองหาสิ่งที่เราจะได้เรียนรู้ เพื่อเป็นหลักคิดต่อการเปลี่้ยนแปลง ได้ความว่า ;  

 

มีความเป็นไปได้มากมายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่สิ่งที่พวกเรา J design เห็นเหมือนกันคือไม่สำคัญหรอกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในอนาคต สิ่งสำคัญคือพวกเราจะสามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลง ละทิ้งความเชื่อเดิม ความเคยชินแบบเก่า สิ่งที่เคยยึดมั่นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในอดีตไป และอ้าแขนเริ่มต้นกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ นั้นแหละคือสิ่งสำคัญที่สุด  

 

แล้วเจอกันใหม่หลังสายฝนแห่งความเปลี่ยนแปลงพัดผ่านไป : )   

Facebook
Twitter
LinkedIn